ประเทศไทย: เรียกร้องให้ร่วมสังเกตุการณ์ การฟังคำพิพากษาคดี เกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน และนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ศาลจังหวัดลำพูน 

ASIAN HUMAN RIGHTS COMMISSION - URGENT APPEALS PROGRAMME

Urgent Appeal Case: AHRC-UAC-095-2012-TH
ISSUES: Human rights defenders, Land rights,

เรียน กัลยาณมิตร

ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 เวลา 9.00 น. ที่ศาลจังหวัดลำพูน จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเกี่ยวกับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในที่ดินสามคนทางภาคเหนือ จำเลยทั้งสามคน ได้แก่ นายประเวศน์ ปันป่า นายรังสรรค์ แสนสองแคว และ นายสืบสกุล กิจนุกร ซึ่งมีโอกาสถูกพิพากษาจำคุกนานถึงสี่ปี สำหรับการเคลื่อนไหวยึดครองที่ดิน ในระหว่างปี 2545 – 2547 ชะตากรรมของชายทั้งสามคนจะถูกตัดสินด้วยคำพิพากษา เช่นเดียวกับสิทธิในที่ดิน และสิทธิในการดำรงชีวิต ของคนในภาคเหนือทั่วไป ทางคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) เรียกร้องให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้ารับฟังการพิจารณาคดีครั้งนี้ และเรียกร้องให้ผู้สนใจติดตามผลการตัดสินอย่างใกล้ชิด โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียจะส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมสังเกตการณ์คดีด้วย

ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 (พ.ศ.2533) เกษตรกรและองค์กรพัฒนาเอกชนได้รวมตัวเป็นขบวนการปฏิรูปที่ดินระดับชุมชนในภาคเหนือของไทย ในปี 2544 เริ่มมีการยึดครองที่ดินซึ่งถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในที่ดินซึ่งมีข้อพิพาท แม้จะมีเหตุผลสนับสนุนตามกฎหมายจากการปฏิรูปที่ดินในไทยและกฎหมายการใช้ที่ดิน แต่ผลจากการปฏิบัติการเป็นเหตุให้ผู้นำชุมชนและสมาชิกในขบวนการถูกตั้งข้อกล่าวหาบุกรุกและทำลายทรัพย์สินส่วนบุคคล

คำตัดสินของศาลฎีกาเกี่ยวข้องกับสองคดีที่มีจำเลยสามคน ได้แก่ นายประเวศน์ ปันป่า อายุ 64 ปี ชาวบ้านจากบ้านพระบาท อำเภอป่าซาง จ.ลำพูน นายรังสรรค์ แสนสองแคว อายุ 56 ปี ชาวบ้านจากบ้านไร่ดง ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งผลักดันการปฏิรูปที่ดินระดับชุมชนและปัจจุบันเป็นประธานสหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง จำกัด และนายสืบสกุล กิจนุกร เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่เชียงใหม่ ซึ่งเคยทำงานกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) และสนับสนุนขบวนการสิทธิที่ดินระหว่างปี 2545 – 2547 ทั้งหมดถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 1531, 1371 / 2545, 2546 คดีหมายเลขแดงที่ 2699, 2700/2549 และตกเป็นจำเลยทั้งสามคน ศาลชั้นต้นตัดสินว่า มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายหลายข้อ ทั้งในส่วนการบุกรุก และการทำลายทรัพย์สินส่วนบุคคล และการชักนำและสนับสนุนให้บุคลอื่นกระทำตาม โดยศาลชั้นต้นได้ตัดสินลงโทษจำคุกหกปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า มีความผิด และไม่ลดโทษสำหรับนายประเวศน์ แต่ได้ลดโทษสำหรับกรณีนายรังสรรค์และนายสืบสกุลเหลือเพียงจำคุกสี่ปี

การฟ้องคดีต่อ นายประเวศน์ ปันป่า นายรังสรรค์ แสนสองแคว และ นายสืบสกุล กิจนุกร เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามฟ้องร้องเอาผิดต่อชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินในจังหวัดลำพูน ในปัจจุบัน มีเกษตรกรและผู้นำขบวนการ 22 คน ที่ถูกศาลตัดสินคดีจากปฏิบัติการเพื่อสิทธิที่ดินของตนในจังหวัดลำพูน โดย 20 คน มาจากบ้านท่าหลุก ตำบลหนองล่อง กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน อีกสองคนมาจากบ้านดงขี้เหล็ก ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวหลังถูกจำคุกอยู่หกเดือน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2553 ส่วนจำเลยอีก 10 คน ยังคงถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น โดย 8 คน มาจากบ้านแพะใต้ กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน และ 2 คน มาจากบ้านไร่ดง ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

ข้อกังวลเกี่ยวกับการฟ้องคดีเหล่านี้ ได้แก่ มีความร่วมมือกันระหว่างเจ้าของที่ดิน (ซึ่งลงทุนซื้อที่ดินไว้เฉยๆ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์) กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงที่ดินทำกินเพื่อเลี้ยงชีพ ในบทความเกี่ยวกับขบวนการสิทธิที่ดิน ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักข่าวประชาธรรม สำนักข่าวทางอินเตอร์เน็ตในภาคเหนือ นายรังสรรค์ แสนสองแคว ให้ความเห็นว่า “มันก็มีสาเหตุหลัก คือ เพราะว่าเกษตรกรเราไม่มีที่ทำกิน ถึงมีก็มีไม่เพียงพอ อีกสาเหตุหนึ่ง ก็คือ ที่ดินที่นายทุนซื้อไว้ แล้วปล่อยทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ ซึ่งมันมีสองลักษณะ คือ ที่ดินที่ปล่อยทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ เป็นที่ดินซื้อเพื่อเก็งกำไร และที่ดินที่ซื้อแล้วเขาเอาโฉนดไปเข้าธนาคารจนเกิดกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอลเน่าเสีย”

นอกจากนั้น ข้อกังวลต่อคดีนี้สำหรับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้แก่ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความพยายามที่จะใช้อำนาจตุลาการ เพื่อข่มขู่และคุกคามชุมชนและผู้นำเอ็นจีโอที่ให้ความสนับสนุนต่อชาวบ้าน ซึ่งเรียกร้องสิทธิของตน ในเดือนตุลาคม 2554 ศาลฎีกามีคำสั่งลงโทษนางจินตนา แก้วขาว นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของตนและสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นการต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (โปรดดู AHRC-STM-146-2011) คำตัดสินของศาลสร้างผลกระทบอย่างชัดเจนต่อสิทธิของพลเมืองที่จะจัดตั้งและปกป้องชุมชนและผลประโยชน์ของตน แม้ว่าข้อกล่าวหาต่อพวกเขาจะคลุมเครือ

ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีที่มีต่อ นายประเวศน์ ปันป่า นายรังสรรค์ แสนสองแคว และ นายสืบสกุล กิจนุกรในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียใคร่เตือนให้องค์กรตุลาการของไทยทราบถึงสิทธิของบุคคลที่จะรวมตัวและประท้วง และสิทธิของชุมชนซึ่งพึงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 องค์กรตุลาการจึงมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ ไม่ใช่ไปสร้างความชอบธรรมให้กับการละเมิดสิทธิ นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอเรียกร้องรัฐบาลไทยและองค์กรตุลาการให้ยุติคดีความต่าง ๆ ต่อนักเคลื่อนไหวและชาวบ้านในกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยทันที

รายละเอียดของการอ่านคำพิพากษา
สถานที่: ศาลจังหวัดลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
เวลา: 9.00 น.
หมายเลขคดี: คดีหมายเลขดำที่ 1531, 1371 / 2545, 2546 คดีหมายเลขแดงที่ 2699, 2700/2549

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิที่ดินในภาคเหนือของไทย

การไม่สามารถเข้าถึงที่ดินเป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับเกษตรกรในภาคเหนือของไทย นับแต่กลางศตวรรษที่ 20 แม้ว่าปัญหาของเกษตรกรยากจนและไร้ที่ดินในช่วงสงครามเย็น เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงที่ดินด้วยค่าเช่าที่เหมาะสม แต่การขยายตัวของเกษตรอุตสาหกรรม และนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ประกอบกับการร่วมมือระหว่างรัฐไทยกับนายทุน ทำให้เกิดปัญหาชุดใหม่ๆ ขึ้นมาในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา

ในปี 2527 รัฐบาลไทยได้รับเงินกู้ประมาณหกพันล้านบาทจากธนาคารโลก และเริ่มโครงการออกโฉนดที่ดินเป็นเวลา 20 ปี จนถึงปี 2530 มีการออกโฉนดที่ดินส่วนใหญ่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือ โดยชาวบ้านไม่มีส่วนรู้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการออกโฉนดให้กับนายทุนจากภายนอกทับที่ดินสาธารณะ และที่ดินของหมู่บ้าน ซึ่งมีความสำคัญต่อชาวบ้าน นายทุนยังสามารถออกโฉนดที่ดินในพื้นที่สองแห่งซึ่งมีปัญหาความคลุมเครือด้านกฎหมาย ได้แก่ 1) ที่ดินป่าสงวนและป่าต้นน้ำ ซึ่งตามกฎหมายแล้วห้ามการถือครองโดยเอกชน 2) ที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งควรเป็นที่ดินเพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรยากจนและไร้ที่ดิน คณะกรรมการอิสระหลายชุดยืนยันว่า โฉนดที่ดินซึ่งออกให้ในสภาพเช่นนี้ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนั้น การเติบโตขึ้นของการเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งขยายตัวมากสุดในช่วงต้นทศวรรษ 1990 (พ.ศ.2533) ในภาคเหนือ เป็นเหตุให้ที่ดินที่มีการออกโฉนดจำนวนมากถูกปล่อยทิ้งร้าง พ่อค้าเก็งกำไรที่ดินไม่สามารถจ่ายหนี้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ที่ดินตกเป็นทรัพย์สินของธนาคาร และที่ดินขนาดดังกล่าวก็ใหญ่เกินกว่าที่เกษตรกรรายย่อยที่ยากจนจะซื้อหาได้ ช่วงต้นปี 2540 ชาวบ้านเรียกร้องให้รัฐบาลสอบสวนความชอบด้วยกฎหมายของโฉนดที่มีการออกในที่ดินสปก.ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเหล่านี้

ตั้งแต่ปี 2540 และโดยเฉพาะในระหว่างปี 2543 และ 2545 เกษตรกรไร้ที่ดินรวมตัวกันเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปที่ดิน และมีปฏิบัติการยึดครองที่ดินที่ถูกทิ้งร้างและที่ดินที่มีข้อพิพาทในพื้นที่ของตน เกษตรกรจำนวน 3,798 คนเข้าร่วมในขบวนการปฏิรูปที่ดินชุมชน และมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ถูกทิ้งร้างจำนวน 14,309 ไร่ และยังมีการนำระบบถือครองที่ดินแบบใหม่มาใช้ที่เรียกว่า “โฉนดชุมชน” และมีการจัดทำระเบียบและหน่วยงานเพื่อการบริหารที่ดินอย่างยั่งยืน แต่ละชุมชนจะมีระเบียบและหน่วยงานแตกต่างกันไป โดยมักจะมีลักษณะร่วมกันดังต่อไปนี้

• สมาชิกจะต้องใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ได้รับการจัดสรรอย่างแท้จริง ไม่อนุญาตให้ปล่อยที่ดินทิ้งร้างว่างเปล่า
• หากสมาชิกต้องการโอนสิทธิการถือครองที่ดิน ต้องแจ้งให้คณะกรรมการและให้สมาชิกคนอื่น ๆ ได้ทราบและพิจารณา ห้ามไม่ให้มีการขายที่ดินให้กับคนนอกกลุ่ม
• หากมีการโอนสิทธิการถือครองที่ดิน จะมีการหักรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อสมทบกองทุนที่ดินชุมชน
• สมาชิกต้องเข้าร่วมประชุม ร่วมกิจกรรมระดมทุน และปฏิบัติตามมติเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ อย่างเช่นกรณีที่เกิดการจับกุมและฟ้องร้องดำเนินคดีต่อสมาชิกกลุ่มหรือคนอื่น ๆ
• หากมีการโอนสิทธิการถือครองที่ดิน เจ้าของที่ดินรายใหม่ต้องพร้อมจะรับผิดชอบและทำงานกับกลุ่มในอนาคต

ตั้งแต่ปี 2540 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) เรียกร้องรัฐบาลให้นำที่ดินของเอกชนมาจัดสรรให้กับชุมชนท้องถิ่น ในปี 2544 มูลนิธิสถาบันที่ดินรายงานว่า 70% ของที่ดินซึ่งมีการครอบครองหรือมีการโฉนดตามกฎหมาย ได้ถูกทิ้งร้างหรือถูกปล่อยไว้เฉย ๆ ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ หรือไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์เต็มที่ ในเดือนเมษายน 2544 สกน.มีข้อตกลงกับรัฐบาลให้สอบสวนสถานภาพการถือครองที่ดินประเภทต่าง ๆ และเริ่มโครงการปฏิรูปที่ดินนำร่องที่ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นสองจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ในลุ่มน้ำปิง ทางภาคเหนือของไทย

อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน 2545 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อพฤติการณ์ที่รัฐบาลเรียกว่าเป็น “การบุกรุก” ที่ดิน ซึ่งส่งผลกระทบทันที ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ตำรวจกว่า 300 นาย ได้บุกเข้าไปยังบ้านดงขี้เหล็ก จังหวัดลำพูน และจับกุมชาวบ้านในข้อหาบุกรุกที่ดิน การกวาดล้างจับกุมหมู่บ้านอื่น ๆ ก็เกิดขึ้นตามมา จนถึงปี 2546 มีการจับกุมเกษตรกรรายย่อยกว่า 100 คนที่ อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอป่าซาง และกิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน และมีการฟ้องร้องคดีกว่า 1,000 ข้อหา

ในปี 2549 ขบวนการปฏิรูปที่ดินของสกน.ได้ร่วมมือกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย รณรงค์เพื่อเกษตรกรไร้ที่ดินทั่วประเทศ โดยมีการเสนอให้เชื่อมโยงนโยบายการจัดสรรที่ดินอย่างเท่าเทียมเข้ากับการจัดตั้งกองทุนที่ดิน การเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าและการออกโฉนดชุมชนเมื่อปลายปี 2550 รัฐบาลไทยได้ตอบรับต่อข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และมีมาตรการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

• มีการตั้งคณะกรรมการเจรจาแก้ไขปัญหาที่ดินในประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในปี 2553 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการออกโฉนดชุมชนตามกฎหมาย และมีการออกโฉนดชุมชนในชุมชนสองแห่ง ได้แก่ที่สหกรณ์บ้านคลองโยน จ.นครปฐม และแห่งที่สองได้แก่ สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง จำกัด อำเภอป่าซาง จ.ลำพูน โดยมีนายรังสรรค์ แสนสองแควเป็นประธานสหกรณ์ และเขาเป็นหนึ่งในจำเลยที่รอฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 และเป็นที่มาของจดหมายอุทธรณ์เร่งด่วนฉบับนี้
• มีหน่วยงานเพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดินแห่งชาติซึ่งทำหน้าที่ประสานงานการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรที่มีรายได้น้อยและไร้ที่ดิน
• มีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

หมายเหตุ ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้มาจากงานศึกษาของเครือข่ายปฏิบัติการวิจัยที่ดิน (Land Research Action Network) และ Focus on the Global South สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งจดหมายจากเครือข่ายที่ส่งให้กับหน่วยงานของไทย ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 โปรดดู: http://www.focusweb.org/content/stop-prosecuting-land-reform-activists-says-international-letter-thai-pm

# # #

เกี่ยวกับ AHRC: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระดับภูมิภาคที่ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเอเชีย จัดทำข้อมูลการละเมิดสิทธิ และรณรงค์ให้มีการปฏิรูประบบยุติธรรมและสถาบันเพื่อประกันการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเหล่านี้ คณะกรรมาธิการมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศฮ่องกงและก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2527

To support this case, please click here: SEND APPEAL LETTER

SAMPLE LETTER


Document Type : Urgent Appeal Case
Document ID : AHRC-UAC-095-2012-TH
Countries : Thailand,
Issues : Human rights defenders, Land rights,