ประเทศไทย: คำพิพากษาที่สำคัญอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก 

ASIAN HUMAN RIGHTS COMMISSION - URGENT APPEALS PROGRAMME

Urgent Appeal Case: AHRC-UAU-018-2012-TH
ISSUES: Freedom of expression,

[อ้างถึง: AHRC-UAU-017-2012 ประเทศไทย: ศาลมีกำหนดอ่านคำพิพากษาสำคัญเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกในคดีของ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร – ขอให้มีผู้มาสังเกตการณ์คดีจำนวนมาก
AHRC-STM-099-2012: ประเทศไทย: ความกังวลต่อความล่าช้าในการอ่านคำพิพากษาคดีอาญาต่อนักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อ]
———————————————————————
ประเทศไทย: คำพิพากษาที่สำคัญอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก

ประเด็น: เสรีภาพในการแสดงออก อิสรภาพทางอินเตอร์เน็ต ผู้ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน
———————————————————————

เรียน กัลยาณมิตร

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ศาลอาญา กรุงเทพฯ ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1667/2553 โดย น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 น.ส.จีรนุช อายุ 44 ปี เป็นเว็บมาสเตอร์ เว็บไซต์ประชาไท สำนักข่าวอิสระทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำหน้าที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข่าวสารที่สำคัญ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นและการถกเถียงประเด็นต่าง ๆ ในช่วงกว่าเจ็ดปีที่ผ่านมาในประเทศไทย ข้อกล่าวหาต่อเธอเกิดขึ้นเนื่องจาก การที่เธอถูกกล่าวหาว่า ไม่สามารถลบข้อความที่หมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ออกจากเว็บบอร์ดประชาไทได้เร็วเพียงพอ ศาลมีคำพิพากษาว่า น.ส.จีรนุชมีความผิด หนึ่งกระทง จากสิบกระทงตามข้อกล่าวหา และตัดสินจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี และปรับ 30,000 บาท แต่เนื่องจากในทาพิจารณาทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงมีเหตุให้ลดโทษจำคุกเหลือเพียงแปดเดือน โทษจำคุกให้รอการลงอาญาไว้ และให้ลดค่าปรับเหลือเพียง 20,000 บาท

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission – AHRC) ยินดีต่อข่าวที่ น.ส.จีรนุชจะไม่ต้องถูกจำคุก และยังคงสามารถทำงานที่สำคัญที่ประชาไทต่อไปได้ ทำให้มีพื้นที่สำหรับเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยต่อไป แต่เราก็รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อผลในเชิงคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชน เนื่องจากศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดในคดีนี้

ตลอดช่วงของคดี เรากังวลต่อการใช้พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีเนื้อหากำกวมเพื่อควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งไม่เพียงเอาผิดทางอาญาต่อบุคคลที่เขียนหรือส่งข้อความ ภาพ หรือวีดิโอทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังเอาผิดด้วยอัตราโทษเดียวกันกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต อย่างเช่นผู้ดูแลเว็บบอร์ด ด้วย ตามมาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 บุคคลใดก็อาจถูกจำคุกเป็นเวลาห้าปีได้ถ้าถูกพบว่านำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน…ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” ตามมาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้สนองจุดประสงค์ดังกล่าว ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 ดังกรณีของน.ส.จีรนุช นั้น ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาที่ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ในคดีของน.ส.จีรนุช เปรมชัยพร พนักงานอัยการอ้างว่า เธอน่าจะสามารถลบข้อความที่หมิ่นสถาบันฯ ได้เร็วกว่านี้ และเหตุที่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ จึงถือเป็นความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ

ประเด็นสำคัญของทั้งฝ่ายอัยการและจำเลยในคดีนี้ ได้แก่ การกำหนดนิยามว่า การกระทำใดที่ถือเป็นการ “จงใจสนับสนุนหรือยินยอม” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมให้มีการลบข้อความในเว็บบอร์ดที่เป็นปัญหา ในคำพิพากษาฉบับย่อ ซึ่งมีการนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท ผู้พิพากษาในคดีนี้ ได้ให้ความเห็นต่อการประเมินระยะเวลาที่เหมาะสมดังกล่าว โดยในคำพิพากษาศาลมีการระบุว่า จากข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯ 10 ข้อความ จำเลยสามารถลบ 9 ข้อความดังกล่าว ได้ภายในเวลา 1 – 11 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า น.ส.จีรนุชไม่ได้จงใจสนับสนุน หรือยินยอม ให้มีข้อความดังกล่าว ในส่วนของข้อความที่ 10 ที่ค้างอยู่ในระบบเป็นเวลา 20 วัน ก่อนจะถูกลบออก ศาลพิจารณาเห็นว่า เป็น “ความยินยอมโดยปริยาย” ด้วยความเห็นดังกล่าว ศาลจึงตัดสินว่า น.ส.จีรนุชมีความผิดในข้อหาละเมิดต่อพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ

ในส่วนของ Google มีการออกแถลงการณ์ภายหลังศาลมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 โดยระบุว่า พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นภัยคุกคามต่อสื่ออินเตอร์เน็ตเสรีและเปิดเผยในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะไม่มีการกำหนด “หลักเกณฑ์อย่างโปร่งใสในการจำแนก และให้แนวทางปฏิบัติต่อเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย” แม้ว่า ระบบกฎหมายไทยจะไม่มีลักษณะยึดตามบรรทัดฐานคำตัดสิน แต่คำพิพากษาในครั้งนี้ทำให้น่าจะเริ่มมีกระบวนการจัดทำเนื้อหาที่ชัดเจนมากขึ้นของพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ หากพิจารณาจากคำตัดสินของศาล ถือได้ว่า การลบข้อความที่หมิ่นเหม่ภายในระยะเวลาไม่เกิน 11 วัน เป็นการกระทำที่ยอมรับได้และชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าเป็นระยะเวลา 20 วัน ถือว่า ไม่อาจยอมรับได้และเป็นความผิดทางอาญา แต่ในขณะเดียวกันคำตัดสินของศาลครั้งนี้ ก็ชี้ให้เห็นความไม่ชัดเจนของการจำแนกประเภทการกระทำว่าเป็น “ความยินยอมโดยปริยาย” แม้ว่า เนื้อหาของพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ จะกล่าวถึงการจงใจสนับสนุนและความยินยอม แต่การที่ศาลจำแนกว่า มี “ความยินยอมโดยปริยาย” สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าความยินยอมจะเป็นการกระทำโดยเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็ดี ย่อมไม่ถือเป็นสาระสำคัญตามหลักกฎหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ ในคำพิพากษาฉบับย่อได้กล่าวถึงประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ซึ่งตาม ข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี กำหนดว่า

“1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง
2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่น ตามที่ตนเลือก
3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ
(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น
(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน”

แม้ว่า ศาลจะไม่ระบุถึงข้อ 19 ของกติกาฯ ข้างต้นเลย แต่ในคำพิพากษาฉบับย่อ มีประเด็นเกี่ยวข้องกับ ข้อ (3) (ข) ดังนี้

“ศาลก็ยอมรับว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสะท้อนถึง ธรรมาภิบาล และความเป็นประชาธิปไตย ของประเทศหรือองค์กรนั้นๆ การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั้งด้านบวกและด้านลบแล้ว ย่อมเป็นโอกาสในการนำไปปรับปรุงประเทศ องค์กร และตนเองให้ดียิ่งๆขึ้น แต่เมื่อจำเลยเปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นในระบบคอมพิวเตอร์ ที่จำเลยเป็นผู้ให้บริการ และอยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อคิดเห็นหรือข้อมูล ที่อาจกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของประเทศรวมทั้งเสรีภาพของผู้อื่นที่ต้องเคารพเช่นกัน (เมื่อปรากฏว่า มีการนำข้อคิดเห็นที่หมิ่นเหม่ลงในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย) จำเลยจึงมิอาจอ้างถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว เพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดได้”

แม้ว่า คำพิพากษาข้างต้นจะไม่มีสิ่งใดคลุมเครือ แต่บรรดาผู้ดูแลเว็บบอร์ด บรรณาธิการ ผู้ให้บริการ และบุคคลอื่นใด ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ มาตรา 15 ของพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องเฝ้าระวังกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติที่เกิดจาก ข้อเขียน ความเห็นที่ส่งเข้ามา หรือการใช้บริการของตนของบุคคลใดก็ตาม สิ่งที่ยังคงไม่ชัดเจน ได้แก่ การกำหนดวิธีการโดยละเอียด เพื่อจำแนกว่า ข้อความใดในเว็บบอร์ดประชาไท เป็นภัยคุกคาม ต่อความมั่นคงแห่งชาติ หรืออิสรภาพของบุคคลอื่น ช่องว่างที่ยังคงไม่มีการอธิบายดังกล่าว ส่งผลให้การควบคุม จำกัด เสรีภาพในการแสดงออก และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นได้ต่อไป ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ศาลจะต้องกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของความมั่นคงแห่งชาติ และภัยคุกคามที่เกี่ยวข้อง

ตามข้อเท็จจริงข้างต้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียเรียกร้องรัฐบาลไทย ให้อธิบายคำพิพากษาของศาล และเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง เมื่อพิจารณาถึงพันธกรณีที่มี ตามข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในเวลาเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องต่อเสรีภาพ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอแสดงความยินดีต่อ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร และเว็บไซต์ประชาไท สำหรับโอกาสที่จะทำงานต่อไปเพื่อสนับสนุนการได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ในประเทศไทย ข้อกล่าวหาล่าสุด และบทลงโทษ ตามมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สะท้อนให้เห็นว่า งานของพวกเขามีความจำเป็นมากยิ่งกว่ายุคใด ๆ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดู:
คำพิพากษาฉบับย่อ: เปิดคำพิพากษาฉบับย่อ ผอ.ประชาไท: มาตรฐาน ตัวกลาง-เสรีภาพ-ความมั่นคง
เว็บเพจของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ว่าด้วย กรณีน.ส.จีรนุช เปรมชัยพร: http://www.humanrights.asia/campaigns/chiranuch-prachatai)

# # #

เกี่ยวกับ AHRC: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระดับภูมิภาคที่ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเอเชีย จัดทำข้อมูลการละเมิดสิทธิ และรณรงค์ให้มีการปฏิรูประบบยุติธรรมและสถาบันเพื่อประกันการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเหล่านี้ คณะกรรมาธิการมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศฮ่องกงและก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2527

Document Type : Urgent Appeal Update
Document ID : AHRC-UAU-018-2012-TH
Countries : Thailand,
Campaigns : Chiranuch Premchaiporn (Prachatai)
Issues : Freedom of expression,