ประเทศไทย: องค์กรสิทธิเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และจำเลยในคดีอาญาอื่น ระหว่างการพิจารณาคดี 

เรียน ทุกท่าน

เราปรารถนาที่จะแบ่งปันแถลงการณ์ร่วมโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ต่อกรณีการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว นายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข และจำเลยในคดีอาญาอื่น ระหว่างการพิจารณาคดี

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission)
ฮ่องกง

————-
เพื่อการเผยแพร่ทันที
AHRC-FST-008-2012-TH
16 กุมภาพันธ์ 2555

แถลงการณ์ร่วมจากองค์กรสิทธิมนุษชนในประเทศไทย ส่งต่อโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC)

ประเทศไทย: องค์กรสิทธิเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และจำเลยในคดีอาญาอื่น ระหว่างการพิจารณาคดี

 

สำหรับเผยแพร่ทันที
วันที่  15  กุมภาพันธ์   2555

แถลงการณ์
การปล่อยตัวชั่วคราว นายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข
และจำเลยในคดีอาญาอื่น ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

สืบเนื่องจากกรณีที่ นายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 และไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนับตั้งแต่ถูกจับกุมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 10 เดือน ล่าสุดนายปณิธาน  พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของ นายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข ได้ออกมาอดข้าวประท้วงคำสั่งของศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแก่นายสมยศ  ทั้งที่มีการยื่นคำร้องไปแล้วถึง 7 ครั้ง ด้วยการเสนอหลักทรัพย์ประกันที่สูงพอสมควร เพื่อเรียกร้องสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่บิดา ปรากฏเป็นข่าวตามสื่ออย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้  เห็นว่า ประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว  เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงความถูกต้องเหมาะสมมาโดยตลอด   จึงขอแสดงความเห็นและข้อเสนอในประเด็นดังกล่าว  ดังต่อไปนี้

1.     สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นสากล ซึ่งมนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม 

สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว  ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 40 (7) หรือแม้แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 เองก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็ว และผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 108 มาตรา 108/1 มาตรา 109 มาตรา 110 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 และมาตรา 113/1” ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ที่ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีด้วย โดยได้ระบุไว้ชัดแจ้งใน ข้อ 9 ข้อย่อย 3 ว่า มิให้ถือเป็นหลักว่า ผู้ถูกจับจะต้องถูกควบคุมตัวไว้ในระหว่างการพิจารณาคดี ดังนั้น สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นหลักกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของไทยได้บัญญัติรับรองไว้อย่างชัดแจ้ง และผูกพันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเคารพและยึดถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

2.    การตีความข้อยกเว้นของกฎหมายกรณีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต้องเป็นกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือรองรับทุกกรณี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ได้บัญญัติข้อยกเว้นที่ให้เจ้าพนักงานหรือศาลมีอำนาจไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ หากมีเหตุอันควรเชื่อบางประการ ได้แก่
(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของ         เจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวชั่วคราวพึงตระหนักเสมอว่า การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเพียงข้อยกเว้นเท่านั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด โดยในกรณีที่จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือประกอบในทุกกรณี  หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่สามารถหาพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือมาสนับสนุนการคัดค้านการให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้  ศาลก็ต้องอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเสมอ

3.    ศาลมีหน้าที่ตีความกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเป็นไปตามหลักสากล เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยทำให้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นจริงในทางปฏิบัติในทุกกรณี 
กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย ย่อมไร้ความหมาย หากองค์กรที่มีหน้าที่บังคับใช้และตีความกฎหมาย ไม่ตีความให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย เนื่องจากกฎหมายจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริงก็แต่โดยการใช้การตีความของผู้ปฏิบัติ

ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 27 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง” ด้วยเหตุนี้ เจ้าพนักงานตำรวจและศาลจึงไม่อาจตีความกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาได้  แต่ต้องตีความกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (7) บัญญัติรับรองไว้เป็นหลักสำคัญ เพื่อทำให้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นจริงในทางปฏิบัติ

4.     รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 วรรค 2 ประกอบ วรรค 3 ได้บัญญัติไว้เป็นหลักการว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด 

ดังนั้น ก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด การปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ย่อมไม่อาจกระทำได้ การที่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ผู้ต้องหาหรือจำเลยคนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอาญา ต้องถูกคุมขังเพราะเหตุไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อยู่ในเรือนจำรวมกับผู้ต้องขังที่ศาลได้พิพากษาจนถึงที่สุดแล้วนั้น  จึงขัดต่อหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรานี้ด้วย

จากหลักการและเหตุผลที่กล่าวมา เราขอเรียกร้องให้เจ้าพนักงานตำรวจและศาลตีความ และปรับใช้กฎหมายเรื่องปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ความสำคัญและเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย ในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ในขณะที่สังคมกำลังให้ความสนใจในคดีของ นายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข  ศาลก็มีหน้าที่ในการที่จะแสดงให้สังคมเห็นว่า ตนได้ใช้และตีความกฎหมายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วนแล้ว  โดยพิจารณาให้ นายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวตามกฎหมาย  เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอื่นๆ ต่อไป

แถลงการณ์ ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW)
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC)
สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย(AIHR)
ศูนย์ข้อมูลชุมชน(CRC)
เครือข่ายพลเมืองเน็ต(Thai Netizen Network)
ศูนย์พัฒนาเด็กและเครือข่ายชุมชน
โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: 
–    พนม บุตะเขียว  เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โทร +66 – 85 – 468 – 1555 (ไทย)
–    สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม โทร: +66 – 84 – 016 – 6152 (ไทย-อังกฤษ)

# # #
เอเอชอาร์ซี: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ออกเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ และ สนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสถาบันยุติธรรม เพื่อให้แน่ใจว่า สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม สำนักงานตั้งอยู่ที่ฮ่องกง โดยก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2527

To support this case, please click here: SEND APPEAL LETTER

SAMPLE LETTER


Document Type : Forwarded Statement
Document ID : AHRC-FST-008-2012-TH
Countries : Thailand,