ประเทศไทย: ขอให้ทบทวนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

เรียนทุกท่าน

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) ปรารถนาส่งต่อจดหมายเปิดผนึกของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
ฮ่องกง
——-

19 มิถุนายน 2555

จดหมายเปิดผนึกโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ส่งต่อโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC)

ประเทศไทย: ขอให้ทบทวนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 3

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เรียน นายกรัฐมนตรี
สำเนาถึง
1. ประธานวุฒิสภา
2.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
3.ประธานสภาผู้แทนราษฎรประธานวุฒิสภา

สิ่งที่ส่งมาด้วย
1. จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 1 เรื่องขอให้ทบทวนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ลงวันที่ 14 กันยายน 2554
2. จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 2 เรื่องขอให้ทบทวนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ลงวันที่ 12 มีนาคม 2555

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ จังหวัดปัตตานี ยะลาและจังหวัดนราธิวาส ต่อไปอีก 3 เดือน เป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 27 ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม – 19 มิถุนายน 2555

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ขอให้ ท่านนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาข้อมูลและข้อคิดเห็นต่อจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 14 กันยายน 2554 และวันที่ 12 มีนาคม 2555 ตามลำดับซึ่งได้เคยนำเสนอข้อมูลและข้อคิดเห็นต่อกรณีการประกาศขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกครั้งก่อนพิจารณาประกาศให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่สถานกาณณ์ฉุกเฉินประเภทร้ายแรงต่อไปอีก 3 เดือน ซึ่งจะทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลใช้บังคับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครบ 8 ปี นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ ยังมีความเห็นคัดค้านการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อเสนอเพิ่มเติมดังนี้

1. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) และวันที่ 17 พฤษภาคม 2555 ประธานกปต.ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันกับผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน รวมทั้งหน่วยงานในระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศูนย์อำนวยการการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) และตัวแทนผู้บริหารเห็นชอบในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างยุทธศาสตร์ของศอ.บต.จำนวน 9 ข้อ เน้นงานด้านการพัฒนา และยุทธศาสตร์ 6 ข้อ ของ กอ.รมน.ที่เน้นงานด้านความมั่นคง ภายใต้กรอบของแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 เสนอโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

2. มูลนิธิฯ มีข้อมูลอันเป็นที่ประจักษ์ว่า ศอ.บต.ได้เดินหน้านโยบายในการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูความเข้าใจและลดเงื่อนไขความรุนแรง โดยการเปิดนโยบายการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เช่น มีการซ้อมทรมาน การอุ้มหาย การควบคุมตัวโดยไม่ชอบ การวิสามัญฆาตรกรรม และการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยไม่สามารถดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลต้องสงสัยนั้นได้ ซึ่งย่อมเป็นการยอมรับโดยรัฐในการใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และความปลอดภัยของประชาชน นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังพบว่าศอ.บต.ได้ดำเนินการโดยดำเนินการแก้ไข กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อกฎหายต่างๆที่ขัดต่อวิถีชีวิตอัตลักษณ์ของพี่น้องมุสลิม เป็นการยกระดับบรรยากาศของการยอมรับอัตลักษณ์ของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญและหลักกติกาสากล รวมทั้งการเปิดพื้นที่การพูดคุยด้านสันติภาพต่อสาธารณะมากขึ้น

3. พิจารณาในแผนการรักษาความมั่นคง ทาง มูลนิธิฯ พบว่า ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐ หรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ ยังคงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ยังคงความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ขณะเดียวกันการจัดการเพื่อยับยั้งความรุนแรงโดยการปราบปราม โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่เน้นไปในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัย การจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ยังก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิในการพบญาติและทนายความ อันนำไปสู่ความไม่โปร่งใสในกระบวนการการซักถาม

4. กรณีการจับกุมและควบคุมตัวนักศึกษาและนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดยะลาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ส่งผลให้กลุ่มนักศึกษาได้รวมตัวกันเรียกร้องให้มีการชี้แจงจากหน่วยงานความมั่นคงถึงเหตุที่ต้องสงสัย เนื่องจากมีอดีตนักกิจกรรมและนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวเหล่านั้นจัดทำกิจกรรมและการเคลื่อนไหวไม่ให้มีการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน สิทธิและเสรีภาพมากกว่าความรู้สึกปลอดภัย หรือการแก้ไขเหตุร้ายได้จริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ย่อมเป็นการคุกคามประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องการเคลื่อนไหวและเรียกร้อง ให้มีการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ละเมิดต่อสิทธิของประชาชน โดยล่าสุดกลุ่มนักศึกษามีการเคลื่อนไหวตามหลักการสันติวิธี ด้วยการยื่นหนังสือต่อตัวแทนนักการทูตขององค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ “โอไอซี” ให้มีการเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลไทย เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องในการทบทวนการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีข้อเสนอนี้มีความสอดคล้องต่อความห่วงใยของผู้แทนโอไอซี ถึงรัฐบาลไทยกรณีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่เป็นต้นเหตุสำคัญในการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้มีแนวคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลผ่านสื่อมวลชนในการเรียกร้องให้มีการทบทวนการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และใช้วิธีการแบบสันติวิธีและการพัฒนา

5. มูลนิธิฯ เห็นว่า เมื่อนโยบายและการปฏิบัติของฝ่าย ศอ.บต.และกอ.รมน.เป็นไปในลักษณะของเส้นขนานกับการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ยังจำกัดสิทธิและละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่อไป จะส่งผลให้โอกาสในการสร้างบรรยากาศให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในแบบสันติภาพย่อมเกิดขึ้นจริงได้ยากยิ่งขึ้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ทดลองไม่ขยายการประกาศการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในครั้งนี้เป็นระยะเวลาสามเดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารโดย ศอ.บต.สามารถดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่เน้นการพัฒนาและสร้างสันติภาพ โดยสันติวิธี เพื่อเปรียบเทียบถึงความจำเป็นที่จะยังคงมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพพร้อมที่จะมีการพัฒนากรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งของรัฐและความมั่นคงของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันต่อไปในอนาคตอันใกล้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

(นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ) ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
(นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ) เลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

# # #

เกี่ยวกับเอเอชอาร์ซี: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ออกเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ และ สนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสถาบันยุติธรรม เพื่อให้แน่ใจว่า สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม สำนักงานตั้งอยู่ที่ฮ่องกง โดยก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2527

To support this case, please click here: SEND APPEAL LETTER

SAMPLE LETTER


Document Type : Forwarded Open Letter
Document ID : AHRC-FOL-007-2012-TH
Countries : Thailand,
Campaigns : Thailand State of Emergency 2010