ประเทศไทย: ขอให้ปล่อยตัวนางสาวกริชสุดา คุณะแสนในทันที

ตามที่ปรากฏว่า น.ส. กริชสุดาคุณะแสน ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 จากจังหวัดชลบุรีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารโดยระหว่างการควบคุมตัวไม่มีบุคคลใดสามารถติดต่อน.ส. กริชสุดาได้และไม่ทราบว่า น.ส. กริชสุดาควบคุมตัวอยู่ที่ใด ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 มีการเรียกนางสาวกริชสุดา ให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 68/2557 ทั้งที่ยังไม่ปรากฏว่ามีการปล่อยตัวน.ส.กริชสุดา และยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2557 พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ได้ออกมายอมรับว่ามีการควบคุมตัว น.ส. กริชสุดาจริงนั้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความกังวลและเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.การควบคุมตัว น.ส. กริชสุดาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 24 วันโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหานั้น เกินกว่าระยะเวลาตามมาตรา 15 ทวิ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกพ.ศ. 2447 ซึ่งให้อำนาจกักตัวบุคคลไว้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นแต่ต้องไม่เกิน 7 วัน ดังนั้นการควบคุมตัว น.ส. กริชสุดาตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน2557 เป็นต้นมาจึงเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโดยที่ น.ส. กริชสุดา ยังคงอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร

การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคำสั่งเรียก น.ส.กริชสุดา ไปรายงานตัวในวันที่ 17 มิถุนายน 2557 จึงเป็นการซ้ำซ้อน คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับกับ น.ส.กริชสุดา ได้อีกเจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจใดๆ ในการควบคุมตัว น.ส.กริชสุดาอีกต่อไป

แม้การควบคุมตัวดังกล่าวจะอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก แต่เมื่อฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวหรือหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคล ย่อมมีความรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยไม่อาจปฏิเสธได้ตามกฎหมาย และบุคคลที่ถูกควบคุมตัวดังกล่าวต้องได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

2.การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต การซ้อมทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหาย มักเกิดขึ้นในภาวะที่บุคคลถูกทำให้สูญเสียอิสรภาพ ดังนั้น แม้เป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก หลักการสิทธิมนุษยชนสากลจึงกำหนดให้ยังต้องคงไว้ซึ่งหลักประกันขั้นพื้นฐานที่สุดเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัว กล่าวคือ กล่าวคือ สถานที่ควบคุมตัวจะต้องเป็นสถานที่เปิดเผย ห้ามการควบคุมตัวในสถานที่ลับ และรัฐต้องแจ้งการควบคุมตัวและให้ญาติสามารถเยี่ยมได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่า คสช. กลับปฏิเสธที่จะเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว น.ส. กริชสุดา ทั้งยังไม่อนุญาตให้พบทนายความ และไม่ปรากฎว่าได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติหรือมีบุคคลอื่นใดสามารถติดต่อ น.ส.กริชสุดา ได้แต่อย่างใด และไม่มีความชัดเจนว่า น.ส. กริชสุดา จะได้รับการปล่อยตัวเมื่อใดแม้จะควบคุมตัวเกิน 7 วันตามที่กฎอัยการศึกอนุญาตแล้วก็ตาม

ภาวการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของ น.ส. กริชสุดา เนื่องจากการควบคุมตัวในสถานที่ลับโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา (secret and indefinite detention)นอกจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน ยังสุ่มเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดการทรมานอันเป็นการละเมิดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีในการกำหนดการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดอนุสัญญาดังกล่าว

3. เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า น.ส. กริชสุดา ไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่เจ้าหน้าที่ทหารกลับยังควบคุมตัว น.ส.กริชสุดา ต่อไปโดยไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ ทั้งยังไม่มีการนำตัว น.ส. กริชสุดา มาส่งยัง พนง.สอบสวน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวน.ส. กริชสุดาฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดต่อพันธกรณีของไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)ข้อ 9 ซึ่งรับรองว่าบุคคลมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยในร่างกายและจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ และในขณะจับกุมต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุมและต้องได้รับแจ้งข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน

ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ปล่อยตัว น.ส. กริชสุดา คุณะแสนโดยทันทีพร้อมทั้งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวเกินกว่า 7 วัน โดยไม่มีกฎหมายอนุญาตให้กระทำได้

2.แจ้งสถานที่ควบคุมตัวของผู้ไปรายงานตัว และผู้ถูกกักตัวทุกราย พร้อมทั้งให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้ในทันที และตลอดช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัว ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส ลดความห่วงกังวล และเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

# # #

เกี่ยวกับเอเอชอาร์ซี: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ออกเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ และ สนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสถาบันยุติธรรม เพื่อให้แน่ใจว่า สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม สำนักงานตั้งอยู่ที่ฮ่องกง โดยก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2527

Document Type : Forwarded Press Release
Document ID : AHRC-FPR-020-2014-TH
Countries : Thailand,