เรียน ทุกท่าน
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) ปรารถนาที่จะส่งต่อแถลงข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Culture Foundation: CrCF) ต่อท่านตามที่เอกสารข้างล่างนี้
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
ฮ่องกง
————-
เพื่อการเผยแพร่ทันที
AHRC-FPR-036-2012-TH
31 กรกฎาคม 2555
แถลงข่าวจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Culture Foundation: CrCF) ส่งต่อโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC)
เผยแพร่วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
จากเหตุการณ์คนร้ายได้ลอบวางระเบิดเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 บนถนนสายบ้านอูเป๊าะ-บ้านปากาซาแม หมู่ 7 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา โดยคนร้ายได้ทำการติดตั้งระเบิดไว้ในรถและจอดทิ้งไว้เพื่อรอการจุดชนวนระเบิดขณะที่รถกระบะยี่ห้อมาสด้า สีน้ำเงิน-เทา หมายเลขทะเบียน บจ 3454 ยะลา ซึ่งเป็นรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจขับผ่าน เป็นเหตุให้รถยนต์กระบะของเจ้าหน้าที่เสียหลักพุ่งตกลงข้างตลิ่ง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต จำนวน 5 นาย ประกอบด้วย (1) ร.ต.ท.สุธรรม อ้นทอง (2) ด.ต.แวอูเซ็ง แวเด็ง (3) ส.ต.อ.ณัฐพงษ์ บุญโกมล (4) ส.ต.อ.ประเสริฐ รอดกุล และ (5) ส.ต.อ.วิชานนท์ นามภักดี และบาดเจ็บหนึ่งนาย ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 มีเหตุการณ์ที่คนร้ายลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเขตธุรกิจการค้า ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 8 ราย ซึ่งนับว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายภาคใต้ได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานของศูนย์ข่าวอิศรา ได้ระบุว่า ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รายงานสถิติเหตุรุนแรงในรอบเดือน มิ.ย.2555 ระบุว่า มีเหตุร้ายเกิดขึ้นทั้งสิ้น 78 ครั้ง สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย.2554 เป็นต้นมา หรือสูงที่สุดในรอบ 8 เดือนเหตุ รายงานสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้น นับเป็นเป็นข้อมูลที่เน้นย้ำและสะท้อนถึงเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อการสูญเสียเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทุกท่าน และต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อเหตุรุนแรง ขอเรียกร้องต่อสังคมไม่ให้สนับสนุนความรุนแรงหรือชื่นชมต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ว่าความรุนแรงดังกล่าวจะมาจากฝ่ายใด ทั้งในการเผยแพร่ตามสื่ออินเตอร์เนทและโดยวิธีการอื่นใด หนทางการแก้ไขความรุนแรงทางอาวุธที่สำคัญ คือ การลดอาวุธในพื้นที่ความขัดแย้ง เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงท่าทีและความจริงจัง ต่อการลดอาวุธ ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย และเพื่อเป็นประกันว่า บุคคลจะไม่ถูกให้ทำเสียชีวิตจากการใช้อาวุธเพื่อประหัตประหาร เข่นฆ่าต่อกัน อีกทั้ง การสะสมกำลังทางทหารและอาวุธ ย่อมสร้างให้เกิดความหวาดระแวงต่อกันมากขึ้น
นอกจากนี้ การแพร่หลายของอาวุธปืนขนาดเล็ก ยังเป็นต้นเหตุความรุนแรงในลักษณะการลอบสังหารต่อประชาชนรายวันอย่างต่อเนื่อง กลุ่มเป้าหมายหนึ่ง คือ บุคคลที่เคยตกเป็นจำเลยในคดีความมั่นคง ยกฟ้อง หรือ ได้รายงานตัวกับหน่วยงานของรัฐเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ การถูกลอบสังหารโดยไม่ทราบสาเหตุและวัตถุประสงค์เป้าหมายของการสังหารนั้น สร้างให้เกิดความหวาดกลัวและขาดความเชื่อมั่นต่อแนวทางของรัฐ เช่น กรณีนายอับดุลเลาะ เจ็ะตีแม ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการอย่างถึงที่สุด ที่จะสร้างมาตรการควบคุม เข็มงวด ในการตรวจตรา ตรวจสอบ และลดปริมาณอาวุธทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ในพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อลดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพยสินให้เป็นจริง พร้อมทั้งติดตามหาผู้กระทำผิดที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและรอบคอบ
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร. 02-6934939
# # #
เอเอชอาร์ซี: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ออกเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ และ สนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสถาบันยุติธรรม เพื่อให้แน่ใจว่า สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม สำนักงานตั้งอยู่ที่ฮ่องกง โดยก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2527
To support this case, please click here: SEND APPEAL LETTER
SAMPLE LETTER